พร้อมหรือยัง ที่จะเป็นคนแก่ ในสังคมผู้สูงวัย

17 พฤษภาคม 2018 | เมื่อ 13:49 หลังเที่ยง

 

ภายในปี 2583 ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวนถึง 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ คุณล่ะ... จะเป็นผู้สูงอายุในอีกกี่ปีข้างหน้า และเตรียมความพร้อมหรือยังที่จะใช้ชีวิตแบบชาวสูงวัยอย่างมีความสุข

1. เตรียมสุขภาพให้พร้อมโรคคนแก่คนยังไม่แก่ก็ไม่เข้าใจ เวลาที่ไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่มีการบริการอย่างดีค่าบริการแพงลิ่ว หรือโรงพยาบาลที่ผู้รับบริการเน้นใช้สวัสดิการของรัฐ ลองสังเกตดูว่ามีผุ้สูงอายุจำนวนมากแค่ หันมาดูแลร่างกายกันให้มากกว่าเดิม ถึงอย่างไรวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นผุ้สูงอายุ ถึงจะสุขภาพไม่แข็งแรงเท่าทุกวันนี้ แต่การเตรียมตัวที่ดีอย่างน้อยก็ช่วยให้เราพึ่งตัวเองได้ พึ่งหมอพึ่งยาน้อยลง พึ่งพาคนรอบข้างน้อยลง ยังไปไหนมาไหน ทำอะไรได้เอง ลด ละ เลิก สิ่งที่ทำร้ายสุขภาพเสียตั้งแต่วันนี้ ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ บุหรี่ อาหารขยะ หรือแม้กระทั่งการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ

2. วางแผนครอบครัวและชีวิตตัวเอง จะแต่งงานใช้ชีวิตคู่ หรือจะอยู่เป็นโสด จะมีลูกหรือไม่มี ถ้ามีจะมีกี่คน แผนครอบครัวนี้จะทำให้เราใช้ชีวิตแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในแต่ละทางเลือก และมีการเตรียมตัวในด้านอื่นๆ ที่แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งจะต้องเตรียมตัวล่วงหน้ากันนานเป็นสิบๆ ปี

3. วางแผนที่อยู่อาศัยในอนาคต ทั้งลักษณะของตัวที่พักอาศัยเอง ว่าต้องมีสภาพอย่างไร มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง เพื่อให้เราสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น ปลอดภัย ดูแลรักษาง่าย รวมถึงทำเลที่ตั้ง การคมนาคมที่เดินทางได้ไม่ลำบากมากนัก มีการเข้าถึงในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ภายในไม่กี่นาที

4. วางแผนและเตรียมตัวสำหรับงานหรือกิจกรรมหลังเกษียณ ที่จริงคำว่าเกษียณอายุของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็ยังอยากทำงานต่อ บางคนยังทำงานได้แต่อยากเปลี่ยนไปทำในสิ่งที่ชอบ บางคนอยากออกเดินทางท่องเที่ยว หรือไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม สิ่งเหล่านี้ต้องคิดและวางแผน เตรียมตัวล่วงหน้า คงไม่มีใครอยากเกษียณแล้วไปอยู่เหงาๆ เฉยๆ การเจ็บป่วยทางกายก็ไม่ดี การป่วยทางจิตใจก็ไม่ดีเช่นกัน เรื่องการเตรียมความพร้อมทางจิตใจและสังคม มีความสำคัญมาก และต้องเตรียมตั้งแต่วันนี้ จะรอให้เกษียณหรือเป็นผู้สงอายุก่อนแล้วค่อยมาคิดไม่ได้ ...คุณล่ะ? อยากทำอะไรในแต่ละวันในชีวิตอีก 20-30 ปีข้างหน้า พฤติกรรม อุปนิสัย ทัศนคติ และสังคมคนรอบข้าง แต่ละอย่างในวันนี้ของคุณ เอื้อให้ก่อเกิดกิจกรรมเหล่านั้นในอนาคตได้หรือไม่ 

5. วางแผนทางการเงินการลงทุน ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้เปรียบ จากข้อ 1-4 ที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่จะเกิดได้หากเรามีการวางแผนทางการเงินที่ดี การเริ่มเร็วทำให้เราไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในแต่ละช่วงเวลา เพราะช่วงเวลาที่เหลือยาวนาน จะมีพลังของดอกเบี้ย(หรือเงินปันผล) ทบต้นมาช่วยเราได้มาก และยังมีเวลายาวนานพอให้มูลค่าของสินทรัพย์ทางเลือกอย่างอสังหาริมทรัพย์หรือทองคำได้สะสมมูลค่าในตัวเองเพิ่มขึ้น หากเรามองย้อนไปไม่กี่ปี ก็อาจจะเห็นว่ามูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นน้อย คงที่ หรือลดลง แต่หากมองย้อนหลังไปนานๆ เป็นสิบๆ ปี จะเห็นว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น บางอย่างเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สำรวจดูว่าการออมเงินและลงทุนของท่านในวันนี้เพียงพอหรือไม่ การหวังพึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกบข.อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ยิ่งการที่เรามีแนวโน้มว่าจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่สุขภาพแย่เร็วขึ้น ยิ่งเป็นความเสี่ยงที่เราจะแก่ก่อนรวยและมีช่วงเวลาต้องใช้เงินมากกว่าช่วงเวลาเก็บเงินดังนั้น เริ่มมองหาวิธีเก็บเงิน หาทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย และหาวิธีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมเสียตั้งแต่วันนี้ 

สิ่งเหล่านี้ผสมผสานกัน จะทำให้ชีวิตหลังเกษียณของคุณ อย่างน้อยก็ไม่ลำบาก

ที่สำคัญคือ ต้องเริ่มเลย เริ่มให้เร็ว แล้วทุกอย่างในชีวิตจะง่ายขึ้น

จริงจังเรื่องเก็บเงิน มีเรื่องราวที่ช่วยคุณได้ รวบรวมไว้ที่นี่ คลิ๊ก...

 

โพสต์ล่าสุด