3 เทคนิค เตรียมเงินใส่ซองงานแต่ง

24 กันยายน 2019 | เมื่อ 12:02 หลังเที่ยง

คนที่เริ่มจะอายุ 30 กว่าปีขึ้นไป ก็คงจะต้องเริ่มไปงานแต่งงานของทั้งคนที่อายุมากกว่า คนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และงานแต่งของคนทีอายุน้อยกว่าแล้ว จำนวนงานแต่งในแต่ละปีที่จะต้องไปก็เริ่มมากขึ้น แน่นอนว่าเงินใส่ซอง ก็ต้องเตรียมต้องใช้มากขึ้นไปด้วย การบริหารเงินส่วนนี้จึงมีความสำคัญ จะใส่มากเกินกำลังก็ไม่ได้ ใส่น้อยเกินงามก็ไม่ดี

การแต่งงานสมัยนี้มักมีการตัดทอนพิธีลงไป เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดงานอยู่ ซึ่งการให้เงินใส่ซองก็เป็นการเกื้อกูลกัน ช่วยเหลือเรื่องเงินกันคนละเล็กน้อย ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องรับไปกันสองคน ซึ่งบางทีเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็คือญาติ-พี่น้อง หรือเป็นเพื่อนของเรานั่นเอง

ส่วนที่ว่าต้องใส่เท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ซึ่งหากไม่รู้ว่าจะใส่เท่าไหร่ ก็ลองพิจารณา 3 ปัจจัยเหล่านี้

1. เงินของคุณมีเท่าไหร่? ให้เก็บเงินรายเดือนเตรียมไว้เลย เพื่อกันไว้เป็นส่วนที่จะต้องใส่ซองในโอกาสต่างๆ (ซึ่งอาจจะมีนอกเหนือจากงานแต่งด้วย) เดือนละประมาณ 3-5% ของรายได้เตรียมไว้ก่อนทุกเดือน เช่น ถ้าคุณเงินเดือน 30,000 บาท ก็จะมีเงินเก็บส่วนนี้ 900-1,500 บาทต่อเดือน

2. ใส่ซองเท่าไหร่ดี? เป็นเรื่องยากที่จะระบุตัวเลขชัดๆ ลงไป แต่การเตรียมเงินเก็บเพื่อใส่ซองล่วงหน้า จะทำให้รู้ว่าทั้งปีเราจะมีเงินใส่ซองเท่าไหร่ ไปได้กี่งาน งานคนที่สนิทน้อยใส่ได้เท่าไหร่ คนสนิทมากใส่ได้เท่าไหร่ หากคุณสนิทกับเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวมาก หรือเป็นลูกน้องโดยตรง ก็อาจจะใส่มากกว่าอีกหน่อย บางงานที่เป็นงานของคนที่ไม่ค่อยสนิทสนมเท่าไหร่ก็อาจจะไม่ไปก็ได้

3. ของขวัญแต่งงาน ต้องให้ไหม? ถ้าเป็นงานแต่งของน้อง หรือหลาน ที่คุณซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ต้องอยู่ในพิธีรับไหว้ ยกน้ำชา หรือพิธีอื่นๆ ตามประเพณีหรือศาสนา ก็จะต้องมีการเตรียมของขวัญให้คู่บ่าวสาวด้วย ซึ่งมักเป็นซอง(เงิน) ทองแท่ง ทองรูปพรรณ หรือของมีค่าอื่นๆ ของขวัญวันแต่งงานก็เป็นการอวยพรให้คู่บ่าว-สาวเริ่มต้นชีวิตครอบครัวด้วยเงินขวัญถุง หรือเป็นความหมายมงคลว่าให้มั่งมีเงินทอง ซึ่งคุณก็ต้องเก็บเงินเตรียมไว้ล่วงหน้าเช่นกัน อาจจะต้องใช้เงินมากกว่าใส่ซองเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้มีงานที่คุณเป็นญาติผู้ใหญ่บ่อยเท่าการที่ต้องไปเป็นแขกงานแต่งของครอบครัวอื่น

 

ดูทองแท่งเป็นของขวัญแต่งงาน

สิ่งที่สำคัญคือต้องเตรียมเงินส่วนนี้เอาไว้ล่วงหน้า เพราะหากเดือนไหนมีหลายงาน ภาระเงินใส่ซองของคุณก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงแค่งานแต่งเท่านั้น งานอื่น เช่น งานบวช งานบุญ กฐิน ผ้าป่า งานศพ ฯลฯ ก็ต้องมีเงินใส่ซองเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่งที่คุณอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ่านบทความเพิ่มเติม " เงินเดือน เงินฝาก เงินเก็บ ของคุณ อยู่ในบัญชีเดียวกันหรือไม่? " 

โพสต์ล่าสุด