เทคนิคเก็บเงิน-ใช้เงิน สูตร 50:30:20

24 เมษายน 2019 | เมื่อ 14:33 หลังเที่ยง
ลืมเรื่องปาฏิหาริย์ โชคลาภ หรือสิ่งมหัศจรรย์ที่บันดาลให้คุณรวยข้ามคืนไปก่อน เพราะโอกาสที่จะเกิดกับใครสักคนนั้นมีน้อยมาก

สิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน มันง่ายกว่า แม้จะไม่ได้ทำให้รวยข้ามคืน แต่ก็ทำให้เราเข้าใกล้สถานะการเงินที่ดีขึ้นทุกวัน เครียดน้อยลงด้วย นั่นคือ เก็บเงิน-ใช้เงินสูตร 50:30:20

ก่อนจะเข้าสูตร อยากให้คุณสำรวจรายได้ของตัวเองให้แน่ชัด โดยเฉพาะคนที่มีเงินเดือน ว่าเงินที่เข้าบัญชีเราจริงๆ แล้วมีกี่บาทกันแน่ คือรายได้ที่หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว หักประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(ถ้ามี) แล้ว จะเหลือเงินที่เข้ากระเป๋าเราจริงๆ ที่ใช้ได้จริงในแต่ละเดือน

เลข 50 ตัวแรกในสูตรก็คือ เงินที่กันไว้ใช้เป็น “ค่าใช้จ่ายจำเป็น”

เช่น ค่าข้าว ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ท ค่าเช่าที่อยู่อาศัย รวมถึงหนี้สินที่ต้องชำระรายเดือนต่างๆ ค่าเลี้ยงดูบุตร หรือพ่อแม่ ค่าประกัน เป็นตัวเลขที่มากที่สุดในสูตรนี้ เช่น คนที่มีเงินเดือนเข้ากระเป๋าจริง 20,000 บาท ก็จะมีเงินไว้ใช้จ่ายส่วนนี้ 10,000 บาท

แต่ถ้าใครนับเงินส่วนนี้เทียบกับค่าใช้จ่ายจริงในชีวิตแล้วมีค่าใช้จ่ายเกิน ก็ถึงเวลาที่ต้องสังคายนาค่าใช้จ่ายบางส่วนใหม่ เช่น หาแพ็คเกจค่าโทรศัพท์-อินเตอร์เน็ทใหม่ที่ถูกลง หาทางประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือค่าอาหาร-เครื่องดื่ม ลงอย่างละเล็กน้อย โดยไม่กระทบกับชีวิตประจำวันมากเกินไป

เลข 30 ตัวกลางในสูตรก็คือ “ความสุข”

คือที่จริงจะไม่ใช้ก็ได้ แต่คงเป็นชีวิตที่ไม่มีความสุขเท่าไหร่ เช่น การได้ไปกินอาหารที่อยากกินบ้างเป็นบางโอกาส เสื้อผ้าใหม่ทดแทนตัวที่เก่าเกินจะใส่ ซื้อของที่อยากได้ หรือความสนุกบางอย่างในชีวิต ดูแล้วสัดส่วนก็ไม่น้อย เช่น คนที่มีเงินเดือนเข้ากระเป๋าจริง 20,000 บาท ก็จะมีเงินไว้ใช้จ่ายส่วนนี้ถึง 6,000 บาท

เงินที่กันไว้ใช้เพื่อความสุข ความสนุกสนาน ก็ต้องการส่วนแบ่งที่จริงจังเหมือนกัน คือต้องแบ่งออกมาให้ชัดเจน และควรจะใช้มันด้วย ถ้าไม่กันเงินไว้ใช้ส่วนนี้ ก็มีแนวโน้มว่าเราจะไม่อยากเก็บเงินเลย เพราะมันเป็นเรื่องเครียดเกินไป

เลข 20 ตัวสุดท้ายในสูตรก็คือ “เงินเก็บ” ที่เป็นเงินเก็บจริงๆ

เช่น เงินฉุกเฉิน เงินสำรอง เงินเก็บเพื่อลงทุนในอนาคต เงินเก็บเพื่อเกษียณ เงินเก็บสำหรับโครงการใหญ่ๆ ในระยะยาว เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน คนที่มีเงินเดือนเข้ากระเป๋าจริง 20,000 บาท ก็จะมีเงินเก็บส่วนนี้เดือนละ 4,000 บาท

เงินเก็บส่วนนี้คือสัดส่วนที่น้อยที่สุด และในตัวมันเองก็ควรมีการแบ่งออกไปเป็นวัตถุประสงค์ย่อยๆ อีก แต่สำหรับคนที่พึ่งเริ่มเก็บเงิน หรือพึ่งพบว่าตัวเองไม่มีเงินเก็บ มีปัญหาเก็บเงินไม่อยู่ ควรจะเก็บเงินฉุกเฉินกับเงินสำรองให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก


บางคนจะพบว่าค่าใช้จ่ายบางอย่างก็ระบุได้ยากว่าจะอยู่ในส่วนไหน เช่น ค่าเดินทาง ที่บางคนมีรถยนต์ส่วนตัว ก็จะมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยเกี่ยวกับรถ เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ค่าซ่อม ค่าประกันรถ ต่อทะเบียน ภาษีรถ จะจัดสรรลงช่องไหน

หรือบางคนอาจพบว่า ค่าใช้จ่ายจำเป็น แม้สังคายนาแล้วก็ยังเกิน 50% อยู่ดี ก็ควรต้องลดส่วน “ความสุข” ลงชั่วคราว จนกว่าจะมีรายได้มากขึ้น หรือจัดการค่าใช้จ่ายจำเป็นได้ลงตัวแล้ว

เรื่องเงิน เราจัดการตัวเองให้มีอนาคตทางการเงินดีๆ ได้ ไม่ต้องรอปาฏิหาริย์

จริงจังเรื่องเก็บเงิน อ่านต่อที่นี่

โพสต์ล่าสุด