ทองแต่ละบาท แต่ละสลึงหนักกี่กรัม ทำไมต้องรู้?

19 มิถุนายน 2019 | เมื่อ 16:03 หลังเที่ยง

เราคงเคยเห็นการเทียบหน่วยน้ำหนักทองขนาดต่างๆ เช่น ทอง 1 สลึง ทอง 1 บาท แปลงให้เป็นกรัมกันมาบ้างแล้ว แต่อาจมีคำถามในใจว่า “แล้วจะรู้ไปทำไม”

ตอนไปซื้อทอง โดยเฉพาะทองรูปพรรณ เวลาเลือกทอง เราจะเลือกน้ำหนักเป็นบาท เป็นสลึง แต่เวลาร้านทองชั่งทองให้เราดู น้ำหนักบนตาชั่งจะเป็นกรัม ซึ่งถ้ามีใบรับประกัน ทางร้านทองก็จะเขียนน้ำหนักในใบรับประกันระบุหน่วยเป็นกรัมตามที่ชั่งได้ ดังนั้นเราจึงควรรู้ว่ามาตรฐานของทองแต่ละขนาดควรจะหนักไม่ต่ำกว่ากี่กรัม เพื่อเวลาที่ซื้อจะได้เช็คดูได้เลยว่าทองที่กำลังจะซื้อนั้นน้ำหนักเต็มหรือไม่

ยิ่งตอนไปขายทองคืนร้านทอง การเข้าใจน้ำหนักทองที่เป็นกรัมจะยิ่งมีความสำคัญ เพราะเงินค่าขายทองที่เราได้รับ ก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนักทองที่เป็นกรัม ที่ชั่งได้บนตาชั่งนี่เอง ซึ่งถ้าเรายังติดอยู่กับน้ำหนักทองเป็นบาท เป็นสลึงอยู่ ก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้

ร้านทองจะตีราคาทองเป็นราคารับซื้อทองต่อกรัมก่อน แล้วคูณน้ำหนักทองที่ชั่งได้ ออกมาเป็นราคารับซื้อทองชิ้นนั้นๆ ไม่ได้นำราคาทองต่อบาทมาคูณโดยตรง

ตัวอย่างเช่น ถ้าตอนที่นำทองไปขาย ราคารับซื้อคืนทองคำแท่งในขณะนั้นอยู่ที่ 19,800 บาท ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณตามเกณฑ์ของ สคบ. ที่หัก 5% จากราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง ก็จะอยู่ที่บาทละ 18,525 บาท

ถ้าเรานำทองรูปพรรณครึ่งสลึง อย่างแหวนทองครึ่งสลึง ซึ่งหนักประมาณ 1.89 กรัม กรณีที่ชั่งนำหนักได้ 1.89 กรัม ก็จะคิดราคาได้ดังนี้

18,525 / 15.16 = 1,221.96 ปัดเศษทศนิยมลงเหลือ 1,221 บาท เป็นราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณต่อ 1 กรัม

1,221 x 1.89 = 2307.69 ปัดเศษทศนิยมลงเหลือ 2,307 บาท ก็จะเป็นราคารับซื้อคืนทองครึ่งสลึงชิ้นนั้น

เมื่อรู้ถึงความสำคัญของน้ำหนักทองที่แปลงเป็นกรัมแล้ว เราก็มาทบทวนกันอีกสักทีว่าทองรูปพรรณแต่ละขนาด ตามมาตรฐานแล้วต้องหนักไม่น้อยกว่ากี่กรัมกันบ้าง

ทองรูปพรรณ 1 บาท หนัก 15.16 กรัม
ทองรูปพรรณ 2 สลึง (ครึ่งหนึ่งของ 1 บาท) หนัก 7.58 กรัม
ทองรูปพรรณ 1 สลึง (1/4 ของ 1 บาท) หนัก 3.79 กรัม
ทองรูปพรรณครึ่งสลึง (1/8 ของ 1 บาท) หนัก 1.89 กรัม

แต่อย่าลืมว่า ตอนนำทองไปขาย ต้องดูตามนำหนักที่ชั่งได้ในตอนนั้น ซึ่งทองอาจจะเกิดการสึกหรอจากการใช้งานจนเหลือน้ำหนักไม่ครบดังกล่าว

อยากรู้เรื่องทองมากกว่านี้ ยังมีให้อ่านอีกเพียบ คลิ๊กที่นี่

 

โพสต์ล่าสุด