ทองคำแท่ง มีแบบไหนบ้าง

11 กรกฎาคม 2018 | เมื่อ 11:27 ก่อนเที่ยง

ทองคำแท่งมีทั้งแบบมีค่าบล็อก และแบบไม่มีค่าบล็อก ขึ้นอยู่กับประเภทการผลิต

ทองคำแท่งแบบไม่มีค่าบล็อก คือทองคำแท่งที่มาจากการผลิตแบบวิธี Casting หรือเรียกว่าทองคำแท่งแบบ Cast Bar การผลิตทองคำแท่ง Cast Bar ก็คือเททองคำขณะที่ยังมีความร้อนสูงเป็นของเหลว ลงในเบ้าหรือบล็อก ทิ้งไว้ให้เย็นตัวลงให้พอคงรูปได้ แล้วเคาะออกมาจากเบ้า นำไปแช่น้ำให้เย็นตัวลงอีก จากนั้นก็นำไปกดตราให้มีตราโลโก้ น้ำหนัก และตัวเลขบอกความบริสุทธิ์ หรือข้อมูลสำคัญอื่นๆ ให้ปรากฏบนหน้าแท่งทอง

ส่วนมากทองคำแท่งแบบ Casting จะผลิตแบบน้ำหนักมากๆ เช่น แท่งละ 5 บาท 10 บาท จนถึง หนัก 50 บาท หรือในต่างประเทศก็เป็นแท่งละ 100 กรัม, ครึ่งกิโลกรัม, 1 กิโลกรัม เป็นต้น

ทองคำแท่งแบบ Casting ไม่ได้เน้นความสวยงามมากนัก เน้นทำน้ำหนัก ความบริสุทธิ์ รูปทรง ให้ได้ตามมาตรฐานเป็นหลัก เพราะมักนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตทองรูปพรรณอีกที หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในด้านการลงทุน หรือเป็นทุนสำรองของสถาบันการเงิน ซึ่งไม่ได้ต้องการความสวยงาม กรรมวิธีไม่ได้มีขั้นตอนมาก ใช้เวลาน้อย

แต่ร้านค้าปลีกบางพื้นที่ก็อาจจะมีการคิดค่าบล็อก เพราะถึงแม้ในกระบวนการผลิตอาจไม่ได้ยุ่งยากมาก แต่มีต้นทุนอย่างอื่นที่สูงอยู่ ได้แก่ ต้นทุนค่าขนส่ง ประกันภัยในการขนส่งและเก็บรักษา ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารร้านค้ากิจการ(เช่นค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ และอื่นๆ) ยิ่งไกลก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งและประกันภัยสูง ทางร้านค้าก็จำเป็นจะต้องบวกต้นทุนในการดำเนินการตรงนี้เข้าไป ในราคาขาย เรียกรวมๆ ว่าค่าบล็อก แต่ก็ถือเป็นค่าบล็อกที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับแบบถัดไปที่กำลังจะกล่าวถึง

 

ทองคำแท่งแบบมีค่าบล็อก คือทองคำแท่งที่มาจากการผลิตแบบวิธี Stamping หรือเรียกว่าทองคำแท่งแบบ Minted Bar กระบวนการผลิตมีขั้นตอนมากกว่าแบบแรก คือทำทองเป็นแผ่นใหญ่ๆ มาก่อน นำมาเข้าเครื่องรีดให้เป็นแผ่นบางลง แล้วนำมาตัดด้วยใบตัดให้ออกมาเป็นรูปตามต้องการ(ส่วนมากก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมนๆ หรือเป็นรูปวงกลม) จากนั้นนำไปเข้าเครื่องปั๊มที่มีแม่แบบลาย ให้มีลวดลายสวยงาม (เช่นลายมังกร ลายนักษัตร ก็มักมาจากการผลิตแบบนี้) จากนั้นอาจมีการพ่นทราย(ทำให้พื้นผิวบางส่วนมีลักษณะด้านๆ ทรายๆ) ตัดแต่งขอบให้เรียบร้อย ขัดเงาบางส่วนให้มีความมันวาว อาจจะต้องนำทองแท่งนี้ไปใส่แพ็คเกจ เป็นซองซีลพลาสติกที่แข็งแรง กันการกระแทกหรือการขูดขีด เพื่อรักษาเนื้อทองไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือเนื้อทองหายไป

จะเห็นได้ว่ามีขั้นตอนที่มากกว่าแบบ Casting มาก ใช้เวลานานกว่าในการผลิต และในการทำแม่แบบลวดลาย ยังอาศัยฝีมือในการออกแบบและผลิตออกมาให้เป็นแม่แบบที่สวยงาม ซึ่งอุปกรณ์นี้มีต้นทุนที่สูงพอสมควร ทองคำแท่งชนิดนี้จึงมีค่าบล็อก และค่าบล็อกแพงกว่าแบบ Casting เมื่อเทียบชิ้นสินค้าที่มีน้ำหนักทองเท่ากัน

ส่วนมากทองคำแท่งแบบ Stamping จะผลิตแบบน้ำหนักน้อยๆ เช่น 1 กรัม, 1 สลึง, 2 สลึง, 1 บาท เป็นต้น ในต่างประเทศมีผลิตก็คือขนาดเล็กมากถึง 0.3 กรัมก็มี

ทองคำแท่งแบบ Stamping มีความสวยงามกว่าแบบ Casting มีลวดลายหลากหลาย เช่น ลายนักษัตร ลายหัวใจ ลายฮก ลก ซิ่ว ลายมังกร อักษรจีนที่มีความหมายดีๆ จึงนิยมซื้อไปเก็บสะสม ให้เป็นของขวัญในโอกาสต่างๆ

รวมเรื่องทองคำ ที่คุณอยากรู้ ไว้ที่นี่แล้ว

 

โพสต์ล่าสุด