เทคนิคเลือกซื้อสร้อยทอง (ทองรูปพรรณ)

26 มิถุนายน 2018 | เมื่อ 14:39 หลังเที่ยง

สร้อยทอง หรือ สร้อยคอทองคำ เป็นทองรูปพรรณที่ขายดีเป็นอันดับต้นๆ ของเครื่องประดับทองคำไม่แพ้แหวนทอง นอกจากนี้ยังมีสร้อยข้อมือ, กำไล, จี้ทอง ฯลฯ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีหลากหลายลวดลาย การจะเลือกซื้อสร้อยทองใส่สักเส้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่หัดซื้อทองหรือผู้ที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อยังไง ต้องดูหรือเช็กอะไรบ้าง รวมถึงการขายคืนทองรูปพรรณ ที่ทำไมขายได้ราคาต่างกัน  

เราควรจะพิจารณาและตรวจสอบอะไรบ้างเมื่อซื้อสร้อยทองหรือทองรูปพรรณ
  1. น้ำหนักทองรูปพรรณ น้ำหนักทองเป็นหนึ่งในขั้นตอนมาตรฐานที่ผู้ขายทองจะต้องชั่งน้ำหนักทองให้ผู้ซื้อดู และถ้ามีการออกใบรับประกัน ก็จะต้องบันทึกน้ำหนักลงใบรับประกันด้วย โดยน้ำหนักที่ปรากฏบนตาชั่งจะมีหน่วยเป็นกรัม โดยมาตรฐานของทองรูปพรรณ 1 บาท จะต้องหนักไม่น้อยกว่า 15.16 กรัม ส่วนน้ำหนักที่น้อยกว่าก็มี ทองครึ่งสลึง (หนัก 1.89 กรัม), 1 สลึง (หนัก 3.79 กรัม), 2 สลึง (หนัก 7.58 กรัม), 3 สลึง (หนัก 11.37 กรัม) น้ำหนักที่เป็น “กรัม” จะถูกนำมาคิดราคา ทั้งราคาขายออก และราคารับซื้อคืน ดังนั้นควรตรวจสอบน้ำหนักทองด้วยการชั่งทุกครั้ง เพื่อดูว่าน้ำหนักทองที่จะซื้อนั้นครบถ้วนหรือไม่ โดยร้านทองจะมีการติดป้ายหรือบอกน้ำหนักทองอย่างชัดเจนอยู่แล้วที่ชิ้นทอง และต้องมีการชั่งน้ำหนักทองให้ดูก่อน
  2. ลายทองรูปพรรณ  ความแข็งแรงของสร้อยทอง นอกจากน้ำหนักทองหรือเนื้อทองที่มาก ทำให้ทองเส้นหนาแล้ว ส่วนหนึ่งความทนทานก็มาจาก ลวดลายทอง โดยลายสร้อยทองที่ทอแน่นๆ เช่น ลายเปีย, ลายสี่เสา, ลายหกเสา, ลายกระดูกงู, ลายเบนซ์, ลายซีตรอง จะแข็งแรง ทนทาน ส่วนลายสร้อยทองที่บาง โปร่ง หรือมีลักษณะเป็นห่วงกลมคล้องต่อๆ กัน จะมีโอกาสที่จะขาดชำรุดได้ง่ายกว่า เช่น ลายประคำคั่นโซ่, ลายไข่ปลา, ลายปล้องอ้อย, ลายโซ่, ลายทาโร่ ลายฟิชโช่ที่มีความโปร่งบาง เป็นต้น
  3. ค่ากำเหน็จ นอกจากลายทองจะมีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงทนทานแล้ว ยังมีผลต่อค่าแรงหรือค่ากำเหน็จด้วย ทองรูปพรรณ เช่น สร้อยทองที่นำหนักเท่ากัน แต่ลายต่างกัน ก็สามารถมีค่ากำเหน็จที่ต่างกันได้ อย่างสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือที่มีมากกว่า 1 ลายในเส้นเดียว หรือลายที่มีระย้า ตุ้งติ้ง จะมีขั้นตอนการผลิตที่มากกว่า และมีค่าแรงหรือค่ากำเหน็จแพงกว่าแบบลายเดียวตลอดทั้งเส้น
  4. คุณภาพของทองรูปพรรณ ควรตรวจสอบตำหนิหรือรอยชำรุดชำรุดว่ามีอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ บริเวณที่มีโอกาสชำรุดแตกหักง่ายก็คือตามข้อต่อ และตะขอ
  5. ความเหมาะสมกับพฤติกรรมการใส่ทองของเรา บางคนใส่สร้อยทองตลอดทั้งวันโดยไม่ถอด ทั้งใส่อาบน้ำหรือใส่นอน ทองบางลายที่มีมุมเหลี่ยม เช่น ลายสี่เสา หรือเป็นตุ่มๆ ขึ้นมาอย่างลายดอกพิกุล บางท่านใส่แล้วเหลี่ยมมุมบาด หรือลายตุ่มๆ ทำให้ไม่สบายคอหากจะใส่ตลอดเวลาทั้งตอนนอน ก็อาจจะต้องเลือกแบบที่มีความเส้นกลมเรียบขึ้น ไม่มีเหลี่ยมมุมมาก อย่างลายหกเสา หรือลายผ่าหวาย เป็นต้น หรือบางท่านที่ใส่ๆ ถอดๆ ก็ควรเลือกแบบที่มีความยาวมากพอที่จะสวมใส่และถอดออกทางศรีษะได้โดยไม่ต้องบิดตะขอออก เพราะการบิดตะขอบ่อยๆ อาจจะทำให้ตะขอหักชำรุดได้
  6. การขายคืนทองรูปพรรณ หลายคนมีปัญหาเมื่อนำสร้อยทองไปขายแล้วไม่ได้ราคาตามที่ต้องการ โดนหักเยอะ โดนกดราคาบ้าง ซึ่งการรับซื้อคืนทองรูปพรรณนั้น ถึงแม้น้ำหนักจะครบเต็มจำนวนแล้วก็ตาม แต่หากไปขายคืนต่างร้าน คนละร้านกับตอนที่ไปซื้อมา ก็อาจจะโดนหักราคา ยิ่งกรณีที่เป็นร้านทองรายย่อย อาจจะบวกเพิ่มค่าขนส่ง ที่ต้องนำทองรูปพรรณขายคืนร้านทองรายใหญ่ ดังนั้นการขายคืนทองรูปพรรณจะหักราคารับซื้อคืนมากกว่าทองคำแท่ง
  7. การลงทุนทองรูปพรรณ หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับซื้อทองเก็บเพื่อเก็งกำไร โดยมองว่าการซื้อทองรูปพรรณ จะขายได้ราคาดี ซึ่งความจริงก็สามารถทำกำไรได้ แต่กำไรจากการขายทองรูปพรรณนั้นอาจไม่ได้มากอย่างที่คิด เพราะอย่างที่รู้กันว่าจะต้องเสียค่ากำเหน็จทั้งตอนซื้อและตอนขายก็มีการหักราคามากกว่าทองคำแท่ง รวมถึงการโดนหักกรณีน้ำหนักทองไม่เต็มอันเกิดจากการสึกหรอจากการใช้งานด้วย ทำให้ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยนิยมซื้อเพื่อการลงทุนเท่าไหร่นัก ดังนั้นหากต้องการซื้อทองเพื่อเก็งกำไรควรซื้อ ทองคำแท่งจะดีกว่า เพราะค่าบล็อค(ค่าแรง) ของทองคำแท่งถูกกว่าค่ากำเหน็จของทองรูปพรรณ และไม่ค่อยโดนหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เท่าไหร่
  8. ร้านทองมาตรฐาน แม้สมัยนี้จะมีช่องทางการซื้อทองที่สะดวกสบายอย่างการซื้อทองออนไลน์ แต่ก็มีข้อควรระวังเรื่องของความปลอดภัยในการจัดส่ง และคุณภาพของทองที่ซื้อว่าเป็นทองแท้หรือทองปลอม ซึ่งควรเลือกซื้อกับร้านทองที่เป็นสมาชิกของสมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย และยี่ห้อผู้ผลิตทองที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานจากสคบ. สามารถดูรายชื่อผู้ผลิตทองที่ผ่านการตรวจสอบมาตฐานได้ที่เว็บไซต์สมาคมค้าทองคำที่นี่  ซึ่งร้านทองค้าปลีกส่วนมากก็จะไม่ได้ขายทองยี่ห้อเดียวกับชื่อร้านตัวเอง จะเป็นการซื้อมาจากผู้ค้าส่งหรือผู้ผลิตอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ร้านทองที่ดีควรมีการประกาศ ราคาทองที่หน้าร้าน ที่ถาดโชว์ทองและที่ชิ้นทองควรมีติดป้ายแจ้งน้ำหนักทอง, ประเภททองคำ, เปอร์เซ็นต์ทอง อย่างชัดเจน

สร้อยทอง ถือเป็นสินค้าทองรูปพรรณที่สามารถซื้อได้ด้วยจำนวนเงินหลักพันต้น ๆ โดยมีวิธีการซื้อหลากหลายเช่น ผ่อนทอง ที่ล้อคราคาครั้งเดียว ณ วันที่ซื้อ แล้วผ่อนจ่าย หรือการ ออมทอง ที่ทยอยซื้อทองทุกๆ เดือน ด้วยเงินหลักพัน แต่จะได้ราคาทองแบบเฉลี่ย คล้าย ๆ กับการออมเงิน, เก็บเงินในธนาคาร แต่เปลี่ยนเป็นการออมทองแทนเงิน ซึ่งก็สามารถถอนออกมาเป็นทองรูปพรรณอย่างแหวนทอง, สร้อยคอ, สร้อยข้อมือ ก็ได้ จะเก็บเป็นสมบัติ หรือเก็บไว้เพื่อให้เป็นของขวัญก็ได้ หรือขายได้ราคาตลอด เพราะหากไม่ต้องการรับเป็นทองชิ้นๆ ออกไป ก็สามารถสั่งขายคืนได้โดยใช้ราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง ซึ่งจะได้ราคาเต็ม ไม่ถูกหักราคา และไม่ต้องชำระค่ากำเหน็จก่อน ดังนั้นเมื่อมีกำไร หรือต้องการขายคืน ก็จะได้ราคาเต็มเม็ดเต็มหน่วย

อ่านบทความ " ซื้อทองลายแบบไหนทนที่สุด " คลิ๊กที่นี่

อยากรู้เรื่องทองมากกว่านี้ เรารวมไว้ให้ที่นี่แล้ว

 

โพสต์ล่าสุด