ทองขึ้น,ทองลง ดูจากอะไร?

23 กรกฎาคม 2018 | เมื่อ 15:23 หลังเที่ยง

ถึงแม้โดยพื้นฐานแล้ว ทองคำจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) แต่บทบาทในเรื่องการเป็นสินทรัพย์ทางการเงินและการลงทุนสะสมความมั่งคั่ง ทำให้ทองคำมีความพิเศษแตกต่างออกไปจากสินค้าโภคภัณฑ์อื่่นๆ (เช่น น้ำมันดิบ หรือสินค้าเกษตร) ค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำมีดังนี้

1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลก
หากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดี หรือจะฟื้นตัวจากการตกต่ำ นักลงทุนก็จะให้น้ำหนักการลงทุนไปที่หุ้น มากกว่าทองคำ ความต้องการถือทองคำก็จะน้อยลง ราคาทองคำก็จะต่ำลง, ในทางกลับกัน หากเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีความไม่แน่นอนสูง หรือยังไม่ฟื้นตัวจริง นักลงทุนก็จะให้ความสนใจและลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากกว่า อย่างทองคำ ซึ่งมีโอกาสที่ทองคำจะมีราคาสูงขึ้น

2.ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และอัตราแลกเปลี่ยน (ค่าเงินบาท เทียบดอลลาร์สหรัฐ)
ราคาทองในไทยนั้น อ้างอิงมาจากราคาทองในต่างประเทศ ซึ่งกำหนดราคากันเป็นหน่วย US Dollar ดังนั้นราคาทองที่ซื้อขายกันในประเทศจึงผ่านการคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนมาแล้ว โดยหากค่าเงินบาทอ่อน เช่น จาก 31 บาท / USD เป็น 32 บาท จะส่งผลให้ราคาทองแพงขึ้นโดยปริยาย

3.การเพิ่ม-ลดการสำรองทองคำของสถาบันต่างๆ ทั่วโลก
ธนาคารแห่งชาติแทบทุกประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินระดับโลกอย่าง IMF จะต้องมีการถือครองทองคำสำรองไว้ปริมาณมาก นานๆ ครั้งจะมีรายงานการเพิ่ม-ลดการถือครองทองคำเผยแพร่ออกมาให้สาธารณชนทราบ 
รวมถึงการซื้อขายทองผ่านกองทุนรวมทองคำของนักลงทุนรายย่อยและสถาบันทั่วโลก (กองทุน SPDR มีรายงานทุกวัน)  ซึ่งระดับการถือครองทองคำของสถาบันและกองทุนนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญก็จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ

4.แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโล
หากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับสูง ความต้องการถือทองคำก็จะน้อยลง ราคาทองคำก็จะต่ำลง 
แต่ในทางกลับกัน หากเป็นภาวะดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนก็จะให้ความสนใจและลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ มากกว่า เช่น หุ้น และสินทรัพย์ทางเลือกอย่างสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ ซึ่งมีโอกาสที่ทองคำจะมีราคาสูงขึ้น

5.ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
น้ำมันดิบ ปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลต่อราคาสินค้าและเป็นสัญญาณของอัตราเงินเฟ้อ หากเมื่อใดก็ตามที่ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดความต้องการในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอัตราเงินเฟ้อ 
แต่ในบางครั้งราคาน้ำมันดิบกับราคาทองคำก็ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของนักลงทุนทั่วโลกว่าตีความการขึ้นของน้ำมันว่าอย่างไร 
บางครั้งก็ตีความว่า น้ำมันดิบซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต มีราคาสูงขึ้นอาจหมายถึงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อาจจะไปถือหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงมากกว่าที่จะถือทองคำ ก็อาจทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงได้

6.ภาวะเงินเฟ้อ
ภาวะเงินเฟ้อ คือการที่เงินมีอำนาจในการซื้อสินค้าลดลง หรือสินค้าราคาแพงขึ้นนั่นเอง ดังที่เราเห็นทิศทางของราคาสินค้าที่ผ่านมา ซึ่งแพงกว่าเมื่อหลายปีก่อน จึงทำให้มีความต้องการในทองคำ สินทรัพย์ที่คงมูลค่าในตัวเอง และสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย ทำให้ราคาทองคำมีการปรับตามภาวะเงินเฟ้อ

7.ความตึงเครียดเรื่องสงครามและการเมืองระหว่างประเทศ
ภาวะสงครามส่งผลดีต่อผู้ที่ถือครองทองคำ เพราะในภาวะที่เกิดความตึงเครียดและสงครามระหว่างประเทศ(ประเทศใหญ่) จะส่งผลต่อค่าเงิน(เงินเฟ้อ) ราคาน้ำมัน และเกิดความต้องการในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งทำให้ราคาทองมีการปรับตัวสูงขึ้นในภาวะสงคราม หรือแม้แต่ในช่วงที่มีความตึงเครียดว่าจะเกิดสงครามแต่ยังไม่เกิดขึ้นจริงก็ตาม

8.ความต้องการบริโภคทองคำจากจีน และอินเดีย
เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ ที่มีวัฒนธรรม และประเพณีในการบริโภคทองคำ รวมทั้งยังเป็น 2 ประเทศที่มีประชากรมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ทำให้การบริโภคทองคำในแต่ละเทศกาลของ จีน และอินเดีย ส่งผลต่อราคาทองคำอยู่ไม่น้อย

อ่านบทความ ทองคำแบบไหน เหมาะสำหรับซื้อเก็บหรือลงทุน คลิ๊ก

อ่านต่อ..

โพสต์ล่าสุด