เงินเดือน เงินฝาก เงินเก็บ ของคุณ อยู่ในบัญชีเดียวกันไหม?

09 เมษายน 2019 | เมื่อ 16:50 หลังเที่ยง

หากคุณทำงานประจำ ก็จะได้รับเงินเดือนเข้าบัญชีออมทรัพย์ทุกเดือน แล้วก็ฝากเงินไว้แบบนั้น พอจะใช้ก็ถอนมาใช้ หรือโอนจ่ายค่าสินค้า-บริการต่างๆ รวมถึงเงินเก็บก็อยู่ในนี้ด้วย เป็นไรไหม?

คงจะตอบได้ยากว่าจะ เป็นไร หรือไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณรู้ถึงข้อดี-ข้อเสียของบัญชีออมทรัพย์ คุณอาจจะตอบตัวเองได้ ว่าควรเก็บเงินส่วนไหนไว้ในบัญชีออมทรัพย์ และควรเก็บไว้เท่าไหร่

ข้อดีของบัญชีออมทรัพย์
1. ยังมีดอกเบี้ยให้บ้าง
2. มีการคุ้มครองเงินฝาก ปัจจุบัน(ถึง 10 ส.ค. 62) คุ้มครองไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่ในอนาคตจะเหลือ 5 ล้านบาท(11 ส.ค. 62 ถึง 10 ส.ค. 63) และเหลือ 1 ล้านบาทตั้งแต่ 11 ส.ค. 63 เป็นต้นไป 
3. พร้อมใช้งาน เพียงเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถจ่าย-โอน-เช็คยอดได้ทันที 24 ชั่วโมง
4. จ่ายบิลโดยทำเรื่องหรือตั้งค่าให้ตัดบัญชีอัตโนมัติได้

ข้อเสียของบัญชีออมทรัพย์
1. ดอกเบี้ยต่ำ และคำนวณให้เพียงปีละ 1-2 ครั้งตามเงื่อนไขแต่ละธนาคาร
2. มีค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร
3. ความสะดวกสบายในการถอน-โอน-จ่าย ก็ทำให้เก็บเงินไม่ค่อยอยู่ด้วยเหมือนกัน

แล้วควรเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์หรือไม่ เท่าไหร่?

เงินที่ควรเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์

1. เงินเดือน ที่กันไว้เป็นค่าใช้จ่ายรายวัน แล้วแต่คน ว่าใช้มาก-น้อยแค่ไหน

2. เงินเดือน ที่กันไว้ชำระบิลต่างๆ รายเดือน เพื่อความสะดวก และทำเรื่องตัดบัญชีอัตโนมัติได้ กันลืม แล้วแต่คน ว่ามีภาระมาก-น้อยแค่ไหน

3. เงินเก็บเผื่อฉุกเฉิน เช่น กรณีเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ ข้าวของเสียหาย ต้องใช้เงินภายในวันนั้นเลย เงินส่วนนี้ควรเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ แต่แยกออกมาเป็นอีกบัญชีต่างหาก จาก 2 ข้อแรก ซึ่งธนาคารก็มีบริการให้เราตั้งค่าโอนเงินอัตโนมัติมาเก็บเงินไว้ในบัญชีแยกนี้ ส่วนควรมีเท่าไหร่นั้นตอบได้ยาก ควรเก็บทุกเดือนสะสมไปเรื่อยๆ ถ้ามีเงินก้อนอย่างโบนัสเข้ามา ก็ควรแบ่งมาเติมส่วนนี้ด้วย


เงินที่ไม่ควรเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์

1. เงินเก็บเผื่อตกงาน เพราะเงินส่วนนี้ไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ อาจจะไม่ได้ใช้เลยเป็นเวลานานมาก หากเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ก็จะเสียโอกาสได้ดอกเบี้ยสูงๆ และถึงแม้ว่าจะตกงานกระทันหันจริงๆ คุณก็อาจไม่จำเป็นต้องได้เงินส่วนนี้ภายในวันนั้นเลย ใช้เวลา 2-3 วันในการทำเรื่องถอนจากบัญชีชนิดอื่นได้ (คงยังมีเงินติดตัวอยู่บ้างล่ะน่า...) เงินส่วนนี้ควรมีเพียงพอต่อการดำรงชีวิต 3-6 เดือน และเป็นคนละก้อนกับเงินฉุกเฉิน

2. เงินเก็บระยะยาว อย่างเงินที่เก็บไว้ใช้ยามเกษียณ เงินที่เก็บไว้ให้ลูก หรือเงินเก็บที่ไว้ซื้อของที่อยากได้ เช่น บ้าน รถ หรือเงินเก็บสำหรับลงทนในอนาคต หากเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ก็จะเผชิญความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ และความโอนง่ายจ่ายสะดวกของบัญชีออมทรัพย์อาจเป็นดาบสองคมที่ทำให้การเก็บเงินระยะยาวเป็นเรื่องยากไปได้

แล้วคุณล่ะ เก็บเงินไว้ที่ไหน เท่าไหร่ เพื่ออะไรแล้วบ้าง?

จริงจังเรื่องเก็บเงิน มีเรื่องราวที่ช่วยคุณได้ รวบรวมไว้ที่นี่ คลิ๊ก...

 

โพสต์ล่าสุด