5 สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนสมัครบัตรเครดิต

10 กรกฎาคม 2018 | เมื่อ 16:39 หลังเที่ยง

คนทำงานประจำ มีเงินเดือนก็ดีอยู่อย่างตรงที่เวลาขอสินเชื่อ หรือขอใช้บัตรเครดิตก็จะค่อนข้างง่ายกว่าคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ ทุกวันนี้ “บัตรเครดิต” ถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไปแล้ว โดยเฉพาะคนที่ชอบซื้อของ จองตั๋ว จองที่พักออนไลน์ หรือมีค่าใช้จ่ายประจำบางอย่างจำนวนเท่าๆ เดิมทุกเดือน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าตั๋วเดินทางบางอย่าง ไหนๆ ก็ต้องจ่ายแน่ๆ อยู่แล้ว ก็ขอสิทธิประโยชน์พ่วงอย่างแต้มจากบัตรเครดิตเสียหน่อย หรือสามารถผ่อน หรือแบ่งชำระเวลาซื้อของบางอย่าง รวมถึงเป็นแหล่งเงินสำรองใช้จ่ายในยามฉุกเฉินด้วย

แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า การมีและใช้บัตรเครดิตเท่ากับการขอสินเชื่อ หรือการกู้ยืม หรือการเป็นหนี้อย่างหนึ่ง เป็นหนี้สินระยะสั้น หมายความว่าเราต้องมีเงินสดเพียงพอในมือที่จะไปชำระหนี้ที่จะถึงกำหนดในเร็ววันนี้ ดังนั้นก่อนจะสมัครบัตรเครดิตควรต้องรู้ถึง 5 สิ่งสำคัญต่อไปนี้ก่อน เพราะหากละเลยหรือไม่เข้าใจอาจจะก่อให้เกิดการใช้บัตรเครดิตที่ผิดและก่อให้เกิดหนี้สินระยะยาวและดอกเบี้ยไม่รู้จบขึ้นได้

  1. วงเงิน ในขั้นตอนการสมัครบัตรเครดิต ทางธนาคารหรือผู้ให้สินเชื่อจะพิจารณาวงเงินที่ให้เราใช้ได้จากฐานเงินเดือน หรือรายได้ประจำ เพื่อประเมินว่าผู้สมัครมีกำลังพอที่จะชำระเงินคืนหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดให้ผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป, ทำงานอย่างน้อย 6 เดือน, หรือมีที่มาของเงิน รายการเดินบัญชีอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งจะมีผลต่อวงเงินของบัตร เช่น เงินเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท จะได้วงเงินอนุมัติไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ เป็นต้น
  2. ค่าธรรมเนียม ผู้ให้บริการหรือธนาคารต่างๆ จะคิดค่าธรรมเนียมแตกต่างกัน ค่าธรรมเนียมมีหลายส่วน ได้แก่
  • ค่าใช้บัตรรายปี (ซึ่งธนาคารบางแห่งจะให้ฟรีค่าธรรมเนียมบัตรรายปีหรือตลอดชีพ)
  • ค่าธรรมเนียมในการใช้ต่อครั้ง(โดยมากแล้วจะคิด 3% จากยอดซื้อครั้งนั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าทางร้านค้าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนี้ให้ผู้ซื้อ หรือจะให้ผู้ซื้อจ่ายค่าธรรมเนียมส่วนนี้เอง)
  • ดอกเบี้ยจากการผ่อนสินค้า
  • ดอกเบี้ยจากการจ่ายเกินกำหนดชำระ
  • ค่าทวงถามติดตามให้ชำระ(เมื่อเลยกำหนดแล้วยังไม่ชำระ อาจมีการโทรศัพท์หรือส่งจดหมายแจ้ง หรือทั้งสองอย่าง นั่นหมายถึงผู้ใช้บัตรจะต้องชำระค่าธรรมเนียมนี้ในรอบบิลถัดไป
  • ดอกเบี้ยการณีจ่ายแค่ขั้นต่ำ คือจ่ายไม่เต็มจำนวนทั้งหมดจะมีดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 20% ต่อปี โดยคิดจาก 2 ส่วนคือ ยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมด และยอดเงินคงเหลือส่วนที่เหลือจากที่จ่ายขั้นต่ำ
  1. วันสรุปยอด และวันครบกำหนดชำระเงิน ระยะเวลาระหว่างวันปิดรอบสรุปยอด และวันชำระเงินจะอยู่ที่ 10-20 วัน โดยผู้ใช้สามารถเลือกวันชำระเงินตามที่สะดวกได้แต่ต้องไม่เกินกำหนดชำระ แต่ละธนาคารจะมีวัน, เวลาปิดรอบและชำระเงินแตกต่างกัน มี “ระยะปลอดดอกเบี้ย” ที่นับจากวันวันที่รูดบัตรจนถึงวันกำหนดชำระ หากเลยวันชำระเงินไปแล้วจะมีการคิดดอกเบี้ย ซึ่งอัตราสูง ดังนั้นควรชำระเงินให้ตรงเวลาที่กำหนด ถ้าช่วงที่สรุปยอดจนถึงกำหนดชำระอยู่ช่วงเลยกลางเดือนไปแล้วหรืออยู่ปลายเดือน อาจจะทำให้หลายคนมีปัญหาในการจัดการกับค่าใช้จ่าย ลืมกันเงินไว้ เหลือเงินไม่พอมาชำระหนี้ ต้องไปกดเงินเก็บมาจ่ายหนี้บัตรเครดิต หรือชำระแค่ขั้นต่ำที่ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยกันต่อ เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยแจ้งเปลี่ยนวันสรุปยอด และวันครบกำหนดชำระมาอยู่ในช่วงต้นเดือน หรือช่วงที่เราสะดวกกว่าเดิมได้
  2. ประเภทบัตร นอกจากบัตรบัตรเครดิตแล้ว ยังมีบัตรที่หน้าตาคล้ายๆ กันอีก 2 บัตร แต่แตกต่างกันอย่างมาก ได้แก่
  • บัตรกดเงินสด ที่สามารถนำไปกดเงินสดออกมาจากตู้เอทีเอ็มได้ แต่ค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยสำหรับกดเงินสดจะสูงกว่าบัตรเครดิตมาก และคิดดอกเบี้ยรายวันนับตั้งแต่วันที่กดเงิน ดังนั้นหากไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินหรือจำเป็นที่ต้องใช้เงินสดจริงๆ ไม่ควรกดเงินจากบัตรนี้มาใช้
  • บัตรเดบิต ส่วนมากก็คือใบเดียวกับบัตร ATM นั่นเอง เวลาใช้ก็คือเป็นการตัดเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของเรา จึงไม่ได้เป็นสินเชื่อหรือการกู้ยืม จึงไม่มีดอกเบี้ยในการใช้ เพียงแต่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานที่ไม่ต้องการกดเงินสดมาพกไว้ หรือเงินสดหมดแล้วหาตู้กดเงินไม่ได้ในบริเวณที่ต้องการใช้เงิน
  1. ความต้องการใช้บัตร ควรพิจารณาความต้องการใช้บัตรเครดิตของตัวเองให้ชัดเจน ว่ามีความจำเป็นหรือมีวัตถุประสงค์ในการใช้บัตรเครดิตช่วยในเรื่องใดบ้าง เพราะหากไม่กำหนดกฎเกณฑ์หรือขอบเขตการใช้งานไว้บ้าง มีหวังเงินที่อุตส่าห์ทำงานได้รับเงินเดือนมาก็อาจจะต้องนำมาใช้หนี้บัตรเครดิตอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

มีวินัยในการใช้จ่ายทุกครั้ง และศึกษารายละเอียดของบัตรเครดิตแต่ละใบให้ดี ๆ เราจะได้ประโยชน์จากบัตรเครดิต แต่ถ้าเราพลาดพลั้งใช้แบบไม่ยั้งคิดไปแล้ว แล้วเกิดปัญหาหนี้บัตรเครดิตท่วมตัว ก็ยังพอมีทางบรรเทาปัญหาได้ สามารถอ่านต่อเรื่อง “หนี้บัตรเครดิต มีใครช่วยได้บ้างไหม?” ได้ที่นี่

 

โพสต์ล่าสุด